วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชีวิตจะยุติการเกิดได้อย่างไร ?




ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจในพระอภิธรรมอย่างลึกซึ้งย่อมรู้สึกว่า การเกิดเป็นทุกข์ แม้จะเกิดในภพภูมิของมนุษย์ก็ตาม และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าชีวิตในภพชาติต่อๆไป จะไม่พลาดถลำลงต่ำไปเกิดในทุคติภูมิ นอกจากบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติตนเข้าถึงพระอริยสัจธรรมนำชีวิตเข้าสู่พระอริยบุคคลแล้ว เพราะว่าบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นที่อบายภูมิจะปิดสนิทสำหรับชีวิตของท่าน และการเวียนว่ายตายเกิดที่จะมีต่อไปในสุคติภูมินั้น ย่อมมีได้ไม่เกิน ๗ ชาติ จึงนับได้ว่าพระโสดาบัน ท่านเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่สร้างหลักประกันภัยในการเวียนว่ายตายเกิดให้กับชีวิตได้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนทุกคนต้องยอมรับว่าอนาคตชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตนนั้นต้องมีต่อไปเป็นอนันตังไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปุถุชนคือบุคคลที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส และ กิเลส นี่เองที่เป็นตัวการ ผลักพาให้เกิดการกระทำกรรม เมื่อมีกรรมย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วิบาก คือ รูปขันธ์ และนามขันธ์ ย่อมต้องเกิด ฉะนั้นวัฏฏะทั้งสาม คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ ที่หมุนวน ย่อมทำให้สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่อาจสิ้นสุดหยุดลงได้ และทุกภพชาติที่เกิด กำเนิดของสัตว์ย่อมวิจิตร เพราะจิตย่อมวิจิตรในการสั่งสมกรรม และกิเลส


เมื่อกล่าวถึงกิเลส มีพุทธวจนะกล่าวว่า กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อนเศร้าหมอง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กิเลส” ซึ่งมีถึง ๑๐ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉาถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ และอโนตตัปปะ ซึ่งกิเลสนี้หากจำแนกตามอาการแล้ว จะมี ๓ ลำดับ คือ

๑. กิเลสอย่างหยาบ เรียก วีติกมกิเลส เป็นกิเลสที่แสดงออกทางกาย และวาจา


๒. กิเลสอย่างกลาง เรียก ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่คุกรุ่นอยู่ภายในใจ


๓. กิเลสอย่างละเอียด เรียก อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ไม่ฟูขึ้นในใจ


ธรรมดาอนุสัยกิเลสเป็นธรรมชาติที่ละเอียดซ่อนเร้นอยู่เป็นประจำในขันธสันดานของบุคคล (ยกเว้นพระอรหันต์) ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏทางทวารใดเลย ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารใดทวารหนึ่ง อนุสัย-กิเลสที่นอนนิ่งอยู่นั้นก็จะแปรสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส เกิดขึ้นทางใจ เกิดความยินดี ยินร้ายต่ออารมณ์ที่ประสบนั้น และถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นมีกำลังมากขึ้น ก็จะแปรสภาพเป็น วีติกกมกิเลส เกิดเป็นกิเลสอย่างหยาบ ปรากฏขึ้นเป็นการกระทำ (กรรม) ที่แสดงออกทางกาย และวาจา


ประการสำคัญความเป็นไปแห่งชีวิต คือรูปนามขันธ์ ๕ ของสัตว์ทั้งหลายแต่ละคน ที่ล้วนเกิดแล้วตาย และยังเวียนว่ายตายเกิดกันอีกต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าวัฏทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายนั้นเจริญรุ่งเรืองมากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระบาลีที่กล่าวไว้ถึงธรรมอันเป็นต้นเหตุว่า


“อายตํ สํสารทุกขฺขํ สวนฺติ ปสวนฺติ วฑฺเฒนฺตีติ = อาสวา” แปลว่า ธรรมเหล่าใดทำให้วัฏทุกข์ที่ยาวนานนั้นเจริญรุ่งเรืองมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า อาสวะ


อาสวะ ได้แก่ โลภะ ทิฏฐิ และโมหะ ซึ่งธรรม ๓ ประการนี้ติดหมักหมมอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลายเป็นเวลาช้านาน จนนับจำนวนภพชาติไม่ได้ และธรรมเหล่านี้เมื่อปรากฏแก่ผู้ใด จิตใจของผู้นั้นจะมึนเมา ขาดสติ ตกอยู่ในอำนาจของโลภะบ้าง ทิฏฐิบ้าง โมหะบ้าง เป็นเหตุให้สามารถกระทำทุจริตกรรมต่างๆ ได้


อาสวะมี ๔ ประการ คือ

๑. กามาสวะ คือธรรมชาติที่เป็นเครื่องหมักดอง หรือไหลไปในกามคุณอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ โลภะเจตสิก ในโลภะมูลจิต ๘

๒. ภวาสวะ คือธรรมชาติที่เป็นเครื่องหมักดอง หรือไหลอยู่ด้วยความยินดีติดใจในอัตภาพแห่งตน องค์ธรรมได้แก่ โลภะเจตสิก ในทิฏฐิวิปปยุติจิต ๔

๓. ทิฏฐาสวะ คือธรรมชาติที่เป็นเครื่องหมักดอง หรือไหลอยู่ในความเห็นผิด องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ในทิฏฐิสัมยุตจิต ๔

๔. อวิชชาสวะ คือธรรมชาติที่เป็นเครื่องหมักดอง หรือไหลอยู่ในความหลง ความโง่ ไม่รู้เหตุผลตามความจริง องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ในอกุศลจิต ๑๒


ไม่ว่าจะเป็น กิเลส อนุสัย หรืออาสวะ ล้วนเป็นชื่อของหมวดหมู่ที่กล่าวถึงอกุศลมูลทั้งสิ้น และเป็นที่แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ย่อมมีอยู่ในบุคคลโดยทั่วไป และเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏทุกข์อย่างนับภพนับชาติไม่ถ้วน ล้วนไม่มีโอกาสที่หลุดรอดออกไปจากสังสารวัฏได้ แต่เพราะด้วยพระมหากรุณา-ธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมุ่งมาดปรารถนาช่วยเหลือเหล่าเวไนย์ให้ไปได้พ้นจากห้วงเหวแห่งความทุกข์ พระองค์จึงทรงอุบัติเพื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเห็นว่า “พระนิพพาน” เท่านั้น ที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป และทรงชี้หนทางที่จะไปสู่พระนิพพาน ว่า


“เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยาโสก ปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกข์โทมนสฺสานํอตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺสสจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ”แปลความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงจากความโศก ความร่ำไห้ เพื่อความดับสิ้นไปจากทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมวิเศษที่ควรรู้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทางนั้นคือ สติปัฏฐาน ๔ “


ดังนั้นผู้ใดที่ปรารถนาจะนำชีวิตไปให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จะต้องปฏิบัติตนตามทางที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ คือ “สติปัฏฐาน ๔” เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง เพราะเมื่อบุคคลใดแจ้งในพระนิพพาน บุคคลผู้นั้นย่อมกระทำภพชาติที่มีอยู่ให้เป็นภพชาติสุดท้ายได้ คือ เมื่อตายแล้ว ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป



สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร


สติ แปลว่า การตามระลึกรู้อารมณ์

ปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้ง (ของการเพ่ง)

สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง ฐาน หรือที่ตั้งอันเป็นที่รองรับของการกำหนดสติอย่างประเสริฐ เพราะเป็นการตามระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ (รูป-นาม) ที่เกิดขึ้นตามฐาน ซึ่งมี ๔ ฐานด้วยกัน คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ผู้ใดที่มีการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักของสติปัฏฐาน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาปัญญา อันเป็นปัญญาที่เข้าถึงสภาวธรรมของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ในที่สุด ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ สามารถทำลายวิปลาสธรรม ๔ ประการได้ คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณากาย ซึ่งเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงรูปนั้นเป็นอสุภะ เป็นการทำลาย สุภวิปลาส

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาเวทนา ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงเแล้ว นามเป็นทุกข์ เป็นการทำลาย สุขวิปลาส

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาจิต ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วนามเป็นอนิจจัง เป็นการทำลาย นิจจวิปลาส

๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาธรรม ซึ่งเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว รูป และนามนั้น เป็นอนัตตา เป็นการทำลาย อัตตวิปลาส


โดยทั่วไปแล้ว ชีวิตทุกชีวิตย่อมมีวิปลาสธรรมเสมอ วิปลาสธรรม หมายถึง ธรรมที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยรู้เลยว่า ชีวิตคือ ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันประกอบขึ้นจาก จิต เจตสิก และรูป ที่มีการเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนี้เพราะ อาสวะ และอวิชชา ที่เรามีมาเนิ่นนานจนนับภพนับชาติไม่ถ้วน ประกอบกับตัวการสำคัญที่มาคอยปิดบัง ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมของความจริงอันได้แก่ “ไตรลักษณ์” ได้ นั่นคือ

๑. สันตติ ปิดบัง อนิจจัง เพราะสันตติ คือ การเกิดสืบต่อของนามรูปที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่สามารถเห็นความเกิด และความดับของนามรูปได้ เราจึงเข้าใจผิดว่ามีความเที่ยงแท้ถาวร (นิจจัง)

๒. อิริยาบถ ปิดบัง ทุกขัง เพราะการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่มีอยู่เกือบตลอดเวลา จึงทำให้คนเรามองไม่เห็นทุกข์ที่เกิดจากอิริยาบถเก่า ด้วยอำนาจของตัณหาคนเราจึงไขว่คว้าหาความสบายจากอิริยาบถใหม่ เมื่อเปลี่ยนแล้วหลงเข้าใจว่าเป็นสุข การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถจึงปิดบังทุกขเวทนา ทำให้ไม่สามารถเห็นทุกขสัจจะได้

๓. ฆนสัญญา ปิดบัง อนัตตา เพราะ ฆนสัญญา คือ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่เกิดจากการประชุมกันของรูปธรรม และนามธรรม จึงทำให้เราหลงผิดคิดว่าชีวิตเป็นตัวตน (อัตตา)


เพราะธรรมที่ปิดบังไตรลักษณ์นี้เอง จึงทำให้เราหลงผิดคิดว่า ชีวิตคือรูปนามนี้ดี มีความสวยงามน่ารัก(สุภวิปลาส) มีความสุขสบาย (สุขวิปลาส ) มีความเที่ยงแท้ ถาวร (นิจจวิปลาส) และเป็นตัวตน คน สัตว์ (อัตตวิปลาส) ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเป็นเพียงแค่ขันธ์ห้า คือรูปธรรมและนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาด้วยรูปธาตุ จนเป็นรูปกลาปต่างๆ ในที่สุดก็เกิดเป็นกลุ่มก้อนของอวัยวะที่ล้วนมีแต่อสุภะ และทั้งรูปนามที่เกิดขึ้นนั้นก็คงสภาพเดิมไว้ไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องแตกดับ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่สามารถบังคับบัญชาได้


องค์ธรรมของวิปลาสมี ๓ คือ ทิฏฐิ (ทำให้เห็นผิด) จิต (ทำให้เข้าใจผิด) สัญญา (ทำให้จำผิด) ประกอบกับวิปลาสธรรมมี ๔ คือ หลงผิดคิดว่าชีวิตนี้ดี มีสุข เที่ยง และเป็นตัวตน จึงรวมเป็นวิปลาสธรรม ๑๒ ประการ ซึ่งวิปลาสเหล่านี้เอง ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้ชีวิตคนเราต้องมีความดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งอารมณ์ที่ดี (อิฏฐารมณ์) เมื่อสมหวังก็เกิดความพอใจ เรียกว่า อภิชฌา แต่ถ้าได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี (อนิฏฐารมณ์) ก็จะผิดหวัง ไม่พอใจ เรียกว่า โทมนัส ไม่ว่าจะพอใจ หรือไม่พอใจล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น บางท่านเรียกความต้องการในอารมณ์ที่น่ายินดี และปัดป้องอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีนี้ว่า “ตัณหา” แต่ถ้าผู้ใดสามารถวางใจไว้ได้อย่างแยบคาย หรือที่เรียกว่ามี “โยนิโสมนสิการ” ในสติปัฏฐาน ๔ นั่นคือสามารถกำหนดสติได้เท่าทันในปัจจุบันอารมณ์ ว่ามีรูปอะไร หรือนามอะไรเกิดขึ้น สติและสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นในขณะนั้นย่อมป้องกันกิเลส-ตัณหา ทำให้อภิชฌา และโทมนัสเกิดขึ้นไม่ได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าอารมณ์ขณะนั้นย่อมปราศจากกิเลส เมื่อกิเลสไม่มี กรรมย่อมไม่เกิด ขณะนั้นจึงเป็นวิวัฏฏกรรม ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดผลคือวิบาก อันได้แก่รูปนามขันธ์ห้า (ชีวิต) ที่จะมีต่อไปในภายภาคหน้าได้อย่างแน่นอน


องค์ธรรมของ สติปัฏฐาน ๔ นี้ ได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบกับจิตที่เป็นติเหตุกชวนจิต ๓๔ ดวง คือ มหากุศลญาณสัมปยุตตกุศลจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตกุศลจิต ๔ มหัคคตกุศลจิต ๙ มหัคคตกิริยาจิต ๙ โลกุตตรจิต ๘


ดังนั้นวิปลาสธรรมทั้งหมดมีเกิดขึ้นมาได้ เพราะเราไม่เท่าทันในความจริงของชีวิตรูป และชีวิตนาม ที่เรียกว่า “อโยนิโสมนสิการ” แต่ขณะใดที่มี “โยนิโสมนสิการ” ขณะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดขึ้นด้วย และเป็นที่แน่นอนว่าเวลานั้นวิปลาสธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ อาจกล่าวได้ว่าโยนิโสมนสิการ เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขประตูชีวิต ให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าไปเห็นความจริงว่า “ชีวิตที่ประกอบด้วยรูปนามขันธ์ห้านั้น แท้ที่จริงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”


มีพุทธวจนะกล่าวไว้ว่า

ธรรมชาติใดก็แล้วแต่ ย่อมเห็นแจ้ง และขับไล่วิปลาสธรรมให้ออกไปได้ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า วิปัสสนา

ธรรมชาติใดก็แล้วแต่ ย่อมเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ โดยประการต่างๆ มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมชาตินั้นเรียกว่า วิปัสสนา


ฉะนั้น การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติวิปัสสนานั่นเอง


สรุปได้ว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือการปฏิบัติวิปัสสนา เท่านั้น จึงจะสามารถทำลายวิปลาสธรรมทั้ง ๔ ได้ และเมื่อใดที่วิปลาสธรรมถูกทำลายลง เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติย่อมเข้าถึงสภาวธรรมแห่งไตรลักษณ์ หากบุคคลใดได้ประจักษ์แจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ที่กำลังดำเนินอยู่ในเส้นทางของการพ้นทุกข์โดยตรง


การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ควรทำอย่างไร


สติปัฏฐาน ๔ เป็นการปฏิบัติในหนทางของ “เอกายนมรรค” ซึ่งแปลว่า ทางที่ไปอันเอก ทั้งนี้เพราะ เอกายนมรรคนั้น หมายถึง

- ทางที่ไปของบุคคลผู้เดียว คือต้องไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ จะต้องหลีกเร้นสงัดอยู่แต่ผู้เดียว

- ทางยอดเยี่ยมทางเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ

- ทางยอดเยี่ยมที่จะดำเนินไปนี้มีอยู่ในพระธรรมวินัยที่เดียวเท่านั้น

- ทางที่ไปสู่ที่แห่งเดียว คือไปสู่พระนิพพานเท่านั้น


ดังนั้นผู้ใดต้องการปฏิบัติสติปัฏฐานจะต้องศึกษาให้รู้จักหนทางเสียก่อนที่จะเดินทาง นั่นคือจะต้องมีความรู้ และความเข้าใจในปริยัติก่อนลงมือปฏิบัติ โดยแบ่งเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้



๑. ขั้นเตรียม

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเรียนรู้ คือ

๑. อารมณ์ของการปฏิบัติ จะต้องเป็นปรมัตถ์อารมณ์ ซึ่งต่างกับการปฏิบัติสมาธิ อารมณ์ปรมัตถ์นี้จะเป็นเสมือนพาหนะนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่วิปัสสนาปัญญาได้ นั่นคือ ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษา และทำความเข้าใจใน เรื่องของ วิปัสสนาภูมิ ๖ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อินทรีย์ ๒๒ และอริยสัจ ๔ ซึ่งเมื่อสงเคราะห์ลงแล้ว ก็คือ รูป - นาม นั่นเอง ผู้ปฏิบัติจึงต้องกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ ฉะนั้นก่อนปฏิบัติจะต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ขณะที่มีการกระทบอารมณ์ตามทวารต่างๆจะต้องกำหนดอย่างไรจึงจะแก้ไข ความโง่ และความเห็นผิดได้

๒. ปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจในปัจจุบัน โดยเฉพาะความแตกต่างกันของปัจจุบันธรรม และปัจจุบันอารมณ์

- ปัจจุบันธรรม คือ รูป นาม ที่เกิดเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อยไป

- ปัจจุบันอารมณ์ คือ รูป นามที่ปรากฏเฉพาะหน้า

ปัจจุบันที่มีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติ คือ ปัจจุบันอารมณ์ เพราะ อภิชฌา-โทมนัส จะเกิดขึ้นได้ หรือไม่ได้ อยู่ที่ว่าผู้ปฏิบัติสามารถกำหนดได้เท่าทันความจริงตามความเป็นจริงหรือไม่ หากกำหนดได้ทันว่ามีรูปอะไร นามอะไร เกิดขึ้นในอารมณ์ปัจจุบัน ขณะนั้นอภิชฌา และโทมนัสย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เท่ากับว่าในขณะนั้นสมุทัย อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ย่อมถูกละไป (เป็นการทำลายตัณหา) ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องคอยสังเกตให้ได้ทันในปัจจุบันอารมณ์

๓. ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือสภาวธรรม ไม่มีบุคคล ตัวตน คน สัตว์ ชาย หญิง มีแต่ความจริงคือรูปธรรม และนามธรรม แม้แต่การปฏิบัติก็มีเพียงตัวกรรมฐาน (ผู้ถูกเพ่ง) ได้แก่ “สติปัฎฐาน ๔” กับ ผู้เจริญกรรมฐาน (ผู้เพ่ง) ที่เรียกว่า “โยคาวจร” ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ

๑) สติมา คือมีสติตั้งมั่นอยู่ที่ฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม โดยเท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น

๒) สัมปชาโณ คือมีสัมปชัญญะ รู้ตัวเสมอว่ากำลังกำหนดอะไร ดูอะไร สิ่งที่กำหนดอยู่นั้นเป็นรูปอะไร นามอะไร

๓) อาตาปี คือต้องมีความเพียรประคองจิต ๔ ประการ คือ

เพียรละ บาปเก่าๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ในที่นี้หมายถึงการถ่ายถอนทิฏฐานุสัย (ทิฏฐิ) อันเป็นบาปเก่าๆ ที่หลงเข้าใจผิดว่าชีวิตเป็น ฉัน เรา เขา ให้เอาออกไปให้ได้ ด้วยการกำหนดให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นรูป เป็นนาม

เพียรระวัง ไม่ให้ความชั่วใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ด้วยการระวังป้องกันกิเลสใหม่ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเพียรสำรวมอินทรีย์ คือขณะเห็น ขณะได้ยิน เป็นต้น จะต้องกำหนดได้ถูกต้องว่าเป็นรูปอะไร นามอะไร

เพียรสร้าง วิปัสสนากุศลให้เกิดขึ้น ด้วยการศึกษาทำความเข้าใจ และเพียรฝึกหัดกำหนดรูปนามให้เกิดขึ้นได้เท่าทันในอารมณ์ปัจจุบัน

เพียรรักษา วิปัสสนากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และพอกพูนให้มีมากขึ้น ด้วยการหมั่นระลึกรูปนามที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ให้เกิดขึ้นในอารมณ์ปัจจุบันอยู่เนืองๆ

เพราะ อารมณ์ปัจจุบัน เป็นปัจจัยแก่ การทำลาย อภิชฌา โทมนัสและ อารมณ์ปัจจุบัน จะเป็นปัจจัยทำให้เกิด วิปัสสนาปัญญา


สรุปได้ว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นการทำลาย “ตัณหา” คือ อภิชฌา - โทมนัส และ “ทิฏฐิ”คือความเป็นฉัน เรา เขา ซึ่งทั้งตัณหา และทิฏฐิ นี้คือองค์ธรรมของอุปาทาน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด ภพ ได้แก่ กรรมภพ และอุปัตติภพ หากผู้ใดปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ได้ถูกต้อง ผู้นั้นย่อมทำลายได้ทั้ง ตัณหา อุปาทาน ภพ ซึ่งเป็นปัจจุบันเหตุ ที่จะทำให้เกิดอนาคตผล คือ ชีวิตในชาติหน้า นับได้ว่า บุคคลผู้นั้นกำลังสร้างอำนาจของการกระทำเพื่อยุติการเกิดของชีวิตได้ การกระทำนั้นก็คือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง


ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องมีความมั่นใจว่า ทางสายเอกนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำชีวิตให้ยุติการเกิดได้ และเป็นทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตสิ้นสุดจากสังสารวัฏ


๒. ขั้นปฏิบัติ

เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจในหลักการของปฏิบัติแล้ว ย่อมสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที การปฏิบัติสติปัฏฐานนี้ บางท่านเรียกว่า การปฏิบัติวิปัสสนา การปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติมัคคพรหมจรรย์ การปฏิบัติไตรสิกขา ทั้งหมดนี้คืออย่างเดียวกัน เป็นการปฏิบัติที่ประกอบด้วยองค์ของ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นธรรมที่ปหาณกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดให้หมดลงไปได้


ในการปฏิบัตินี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องยึดหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ

๑) ต้องระวัง นั่นคือผู้ปฏิบัติต้องมีความสำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยศีลในองค์มรรค คือ อินทรียสังวรศีล เป็นการสำรวมขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะสัมผัส และขณะนึกคิด โดยไม่ให้พลาด หรือตกไปจากอารมณ์ของรูป-นาม มิฉะนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้กิเลสเกิดขึ้นได้ การระวังนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ของวิรตี ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เกิดร่วมกันเป็นองค์ของศีล ซึ่งศีลที่เกิดขึ้นในอารมณ์ปฏิบัติเช่นนี้ เรียกว่า อธิศีล

อินทรียสังวรศีล มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด อารมณ์ปัจจุบันได้โดยง่าย

๒) ต้องสังเกต นั่นคือ ผู้ปฏิบัติต้องคอยสังเกตอารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นที่ฐานใด และเกิดขึ้นที่รูป หรือที่นาม ฉะนั้นการสังเกตนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตในขณะนั้นประกอบด้วย วิริยะ สติ และเอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์ของ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ รวมเป็นสมาธิในมรรค ที่เรียกว่า อธิจิต

๓) ต้องรู้ นั่นคือ ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดอารมณ์ตามสภาวธรรมของความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นรูปอะไร นามอะไร การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นไปเพราะเหตุอะไร ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีเหตุผลประกอบการกระทำให้กับตนเองตลอดเวลา นั่นคือจะต้องรู้ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวการให้เกิดการกระทำได้เลย นอกไปจากทุกข์อริยสัจ อันเป็นปัญญาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และแสดงโปรดให้เวไนย์ใช้เป็นกิจในการกำหนดรู้ก่อนการเปลี่ยนแปลงและแก้ไข ดังนั้นความสามารถในการกำหนดรู้รูป-นามนี้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีปัญญา และวิตกเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ของสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ร่วมกันเป็น ปัญญาในไตรสิกขา เรียกว่า อธิปัญญา


มาถึงตอนนี้นับได้ว่า ผู้ปฏิบัติได้เริ่มดำเนินตามรอยทางของพระบรมศาสดา ผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี เพราะทางที่พระพุทธองค์ทรงดำเนินไปแล้ว และนำกลับมาโปรดแก่สัตวโลกนั้น ก็คือ ทางมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลางระหว่างทางกามสุขนุโยคที่สร้างความยินดีให้ กับอัตตกิลมถานุโยคที่สร้างความทุกข์ยากลำบากให้ นับได้ว่าทางที่พระองค์ทรงชี้ให้เดินตามนั้นเป็นทางที่ไม่ให้เอนเอียงไปในอภิชฌา และ โทมนัส นั่นคือเห็นก็สักแต่ว่าเป็นนามเห็น (เห็นเฉยๆ) ได้ยินก็สักแต่ว่านามได้ยิน (ได้ยินเฉยๆ) เป็นต้น หมายความว่าไม่มีความยินดี ยินร้าย เกิดขึ้นในอารมณ์ปัจจุบันนั้นๆ


ฉะนั้นทางแห่งความหลุดพ้นจึงไม่ได้อยู่ไกลไปจากผู้เจริญกรรมฐาน แต่อยู่ตรงการกระทบอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามทวารต่างๆ นั่นเอง เพียงแต่ขณะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเท่าทัน สามารถวางใจได้ถูกต้อง และแยบคายตามสภาวธรรม เมื่อใดที่อินทรีย์มีกำลังมากขึ้น องค์ของศีล สมาธิ และปัญญา จะมารวมกันเป็นหนึ่ง เรียกว่า “เอกสามัคคี” (มรรคสามัคคี) เมื่อนั้นวิปัสสนาปัญญาย่อมจะเกิดขึ้นเป็นบันไดพาผู้ปฏิบัติก้าวเข้าไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ตามความต้องการ


๓. ผลการปฏิบัติ

ทุกคนต้องไม่ลืมหลักของความจริงที่ว่า ผลย่อมต้องมาจากเหตุ บุคคลใดสร้างเหตุอะไรไว้ ผลย่อมต้องมีเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุนั้นๆ อย่างแน่นอน การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความหลุดพ้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือบุคคลใดที่มีความต้องการเดินทางไปในเส้นทางสายเอกนี้ จะต้องสร้างเหตุไว้ ๒ ประการ คือ

๑. เหตุอดีต ได้เคยสร้างสมอบรมปัญญาไว้มาก หมายความว่า กรรมภพที่เขาได้กระทำมาบ่อยๆ ในอดีตชาตินั้นต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต และมีอำนาจเพียงพอทำให้เกิดอุปัตติภพ เป็นมหาวิปากญาณสัมปยุต ซึ่งทำให้บุคคลผู้นั้นเกิดเป็นคนไตรเหตุที่เรียกว่า “ติเหตุกบุคคล” หมายถึงบุคคลที่มีสิทธิ์กระทำ มรรค ผล นิพพาน ให้แจ้งได้

๒. เหตุปัจจุบัน มีการตั้งตนไว้ชอบ หมายความว่าได้มีโอกาสคบหากัลยาณมิตร ได้ใกล้ชิดกับพระธรรม โดยเฉพาะมีการศึกษาเพื่อหาหนทางของการพ้นทุกข์ จนมีความเข้าใจในหลักการ และวิธีการ โยนิโสมนสิการ จนสามารถนำไปปฏิบัติวิปัสสนาได้


เมื่อใดที่บุคคลผู้มีคุณสมบัติของเหตุดังกล่าวได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักของสติปัฏฐาน เหตุที่กระทำมาจะเป็นตัวอุดหนุนให้อินทรีย์มีกำลังแก่กล้า ด้วยปัญญาที่ปรีชามากขึ้นย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมให้บุคคลผู้นั้นประจักษ์ความจริงของรูปนามได้โดยง่าย ญาณปัญญาจากนามรูปปริเฉทญาณ ปัจจยปริคห-ญาณ สัมมสสนญาณ ที่เกิดขึ้นตามลำดับ ทำให้ประจักษ์ความจริงของไตรลักษณ์ได้ และเมื่อใดที่โยคาวจรอาศัย “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นพาหนะพาสู่ “วิปัสสนาญาณ ๙“ (นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ จนถึงอนุโลมญาณ)ได้สำเร็จ นับว่าเขาสามารถก้าวเข้าถึงธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔ ได้เมื่อนั้น เพราะ อนุโลมญาณนั้นก็คือ ญาณที่อนุโลมให้เห็นอริยสัจ ๔ หมายถึง


ทุกข์ ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แท้จริง และพระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดให้เป็นกิจรู้ นับได้ว่าโยคาวจรผู้นั้น ได้กำหนดรู้แล้ว



สมุทัย ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และพระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดให้เป็นกิจละ นับได้ว่าโยคาวจรผู้นั้น ได้ละแล้ว



นิโรธ ซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกข์ และพระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดให้เป็นกิจที่ควรกระทำให้แจ้ง นับได้ว่าโยคาวจรผู้นั้น ได้ทำให้แจ้งแล้ว



มรรค ซึ่งเป็นหนทางที่ดับทุกข์ และพระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดให้เป็นกิจที่ควรดำเนินตาม นับได้ว่าโยคาวจรผู้นั้น ได้ดำเนินตามแล้ว


เมื่อบุคคลใดเข้าถึงอริยสัจ เมื่อนั้นสัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ได้บังเกิดขึ้นแล้วกับบุคคลนั้น ปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ ในอนุโลมญาณ จะเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นก้าวเข้าสู่ โคตรภูญาณ อันเป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งในพระนิพพาน สามารถปหาณกิเลส พร้อมกับตัดโคตรปุถุชน เข้าสู่อริยชนได้ (ตามลำดับ) จิตที่ดำเนินอยู่ในกามวิถี ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นโลกุตตรอัปนาวิถีทันที


มัคคจิตที่เกิดขึ้นในวิถีนั้นจะเป็นตัวปหาณกิเลสให้เป็นสมุทเฉทได้ทันที ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกำลัง และอำนาจของมัคคจิตที่จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับ คือ๑. โสดาปัตติมรรค เมื่อเกิดขึ้นจะปหาณกิเลสเบื้องต่ำให้หมดลงไปคือ อกุศลมูล ที่ถูกทำลาย มี ๕ ดวง คือ โลภะมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ๔ ดวง และ โมหะมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉา ๑ ดวงอาสวะ ที่ถูกทำลาย คือ ทิฏฐาสวะสังโยชน์ ที่ถูกทำลายคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาท๒. สกทาคามิมรรค เมื่อเกิดขึ้นทำให้กิเลสที่ยังเหลืออยู่เบาบางลง แต่ยังไม่หมดลงไปได้๓. อนาคามิมรรค เมื่อเกิดขึ้นจะปหาณกิเลสเบื้องกลางให้หมดลงไปคือ อกุศลมูล ที่ถูกทำลาย มี ๒ ดวง คือ โทสะมูลจิต ๒ ดวง อาสวะ ที่ถูกทำลาย คือ กามาสวะสังโยชน์ ที่ถูกทำลายคือ ปฏิฆะ และกามราคะ๔. อรหัตตมรรค เมื่อเกิดขึ้นจะปหาณกิเลสเบื้องสูงห้หมดลงไปคือ อกุศลมูล ที่ถูกทำลาย มี ๕ ดวง คือ โลภะมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตที่เหลือ ๔ ดวง และ โมหะมูลจิตที่เป็นอุทธัจจะ ๑ ดวงอาสวะ ที่ถูกทำลาย คือ ภวาสวะ และอวิชชาสวะสังโยชน์ ที่ถูกทำลายคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาเมื่อใดที่บุคคลนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ขณะนั้นอกุศลมูลทั้ง ๑๒ อาสวะทั้ง ๔ รวมแล้วคือกิเลส ตัณหาต่างๆ ได้ถูกกำจัดไปอย่างหมดสิ้น เป็น ผู้ลอยบาปลอยบุญ หมายความว่า กรรมทั้งที่เป็นบุญ และบาปจะไม่เกิดกับท่านอีกต่อไป ต้นตอของวัฏฏะ คือ อวิชชา ตัณหา ถูกทำลายสิ้น เมื่อกิเลสไม่มี กรรมย่อมไม่เกิด แต่เมื่อยังต้องมีชีวิตอยู่ในชาตินั้นซึ่งเป็นภพชาติสุดท้าย ท่านจึงต้องเสวยวิบาก อันเป็นผลของกรรมเก่าที่ได้กระทำในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา แต่เหตุปัจจุบัน คือ ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ ที่จะต้องทำให้เกิดอนาคตผลนั้นไม่มีแล้ว ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านกระทำจึงล้วนเป็นกิริยาทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อเป็นกริยาก็จะไม่มีผลอันเป็นวิบากได้อีกต่อไป ครั้นถึงเวลาที่ท่านต้องดับขันธ์ปรินิพพาน อำนาจที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นอีกจึงไม่มี เพราะถูกถอนรากถอนโคนหมดสิ้นแล้วทั้งตัณหา และอวิชชา ฉะนั้นทันทีที่จุติจิตของพระอรหันต์ดับลง ก็จะไม่มีจิตดวงต่อไปเกิดขึ้นได้อีก นี่คือ... จุดจบแห่งสังสารวัฏ เป็นกาลอวสานของชีวิต ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของการมีชีวิตอย่างแท้จริง เพราะเป็นการจบสิ้นแล้วซึ่งการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก และกรรมชรูป ที่เคยมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน และเป็นชีวิตของผู้ที่หลุดพ้นแล้วซึ่งกองทุกข์ทั้งปวง พระอรหันต์ จึงเป็นบุคคลประเภทเดียวที่พบสันติสุข และได้รับอมตสุขอย่างถาวรตลอดนิรันดร์กาล


อาจารย์บุษกร เมธางกูรประธานมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น